บทความ

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริผานาง-ผาเกิ้ง บ้านผานาง ตำบลผาอินทร์แปลง กิ่งอำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริผานาง-ผาเกิ้ง 
บ้านผานาง  ตำบลผาอินทร์แปลง  กิ่งอำเภอเอราวัณ  จังหวัดเลย
  
 
 
 พระราชดำริ :
           เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความห่วงใยราษฏรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและต้องประสบกับวิกฤตต่างๆ เช่น น้ำท่วม ความแห้งแล้ง ความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศ ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนมีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยกันมาก จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ ให้ พันเอก เรวัต บุญทับ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๓ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ร่วมกับจังหวัดเลย จัดพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการฯ สำหรับช่วยเหลือราษฎรยากจน และไม่มีที่ทำกิน เพื่อลดการทำลายป่าอีกทางหนึ่ง กองพลทหารราบที่ ๓ ได้ดำเนินการตามพระราชเสาวนีย์ และได้เลือกพื้นที่บริเวณ ผานาง - ผาเกิ้ง บ้านผานาง หมู่ที่ ๕ ตำบลผาอินทร์แปลง กิ่ง อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย จำนวน ๑๓๕ ไร่ ในพื้นที่จำนวน ๓๕๐ ไร่ อยู่ติดกับภูเขาซึ่งเป็นป่าธรรมชาติ ในปัจจุบันขยายเป็น ๕๐๐ ไร่ มีลำธารไหลผ่านเหมาะสมกับการทำไร่นาสวนผสมและสวนป่าตามโครงการป่ารักน้ำ จึงจัดตั้งเป็นโครงการฯขึ้นในปีที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีวัตถุประสงค์หลักรักษาสภาพป่าที่สมบูรณ์มิให้ถูกทำลาย พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น โดยส่งเสริมอาชีพและจัดสรรที่ทำกินให้เป็นหลักแหล่ง, ฟื้นฟูสภาพป่า ให้กลับคืนสู่สภาพความสมบูรณ์ให้เป็นป่าธรรมชาติ ป่าใช้สอย และป่าเศรษฐกิจ
 
    สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโครงการฯ 5 ครั้ง
     - ครั้งที่ 1 วันที่ 23 ธันวาคม 2535 
      - ครั้งที่ 2 วันที่ 1 ธันวาคม  2537 
      - ครั้งที่ 3 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 
      - ครั้งที่ 4 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 
     - ครั้งที่ 5 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2546
 
วัตถุประสงค์ :
     1. พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในโครงการให้ดีขึ้น ให้มีอาชีพและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่เงสริมงานศิลปาชีพและอาชีพเสริมอื่นๆ เพื่อให้ราษฎรมีรายได้สามารถพึ่งพาตนเองได้
     2. รักษาสภาพป่าที่สมบูรณ์มิให้ถูกทำลาย อนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้มีทั้งป่ะรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอยโดยใช้พื้นที่แต่น้อยให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
     3.  งานตามพระราชเสาวนีย์ ติดตามผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ 
 
 
ประเภทของโครงการ : 
     โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ผานาง - ผาเกิ้ง จัดอยู่ในประเภทโครงการด้านสิ่งแวดล้อม, ด้านส่งเสริมอาชีพและโครงการสำคัญอื่น ๆ ( โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ )
 
ที่ตั้งโครงการ :
     บ้านผานาง หมู่ที่ ๕ ตำบลผาอินทร์แปลง กิ่งอำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย
 
พื้นที่ดำเนินการ :
     จำนวน ๑๔ หมู่บ้าน ตำบลผาอินทร์แปลง กิ่ง อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย  และในจำนวน ๕ หมู่บ้าน ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดหนองบัวลำภู
 
ลักษณะโครงการ :
    แบ่งเป็น 6 กลุ่มงาน ดังนี้ 
    1. งานตามพระราชเสาวนีย์  ได้แก่ 
        1.1  การรักษาสภาพป่ามิให้ถูกทำลายจากไฟป่าและคน โดยให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ โดยพื้นที่ 1,500 ไร่ ที่ได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้จัดเป็นป่าอนุรักษ์ สำหรับพื้นที่ของงโครงการฯ จำนวน 497 ไร่ จัดเป็นป่าเศรษฐกิจ และป่าใช้สอย โดยปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ประมาณ 300 ไร่ 
        1.2  พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรพักอาศัยในโครงการฯ จำนวน 50 ครอบครัว 161 คน (ชาย 81 คน หญิง 80 คน) โดยสร้างบ้านพักอาศัยเนื้อที่ 2-3 งาน และจัดที่ทำกินให้ครอบครัวละ 2 – 5 ไร่ 
        1.3  ติดตามงานตามพระราชเสาวนีย์ เช่น ผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ จำนวน 27 ราย 
        1.4  ปลูกพืชพรรณไม้ป่าเสริมบริเวณพื้นที่ภูผาผีถอนและภายในพื้นที่โครงการฯ เช่น สัก พยุง ชิงชัน ประดู่ หว้า เป็นต้น
    2. งานส่งเสริมศิลปาชีพ 
    เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น ได้แก่ การทอผ้าไหม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การตีเหล็ก 
และการจักสาน
    3. งานพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ 
    แยกเป็นกิจกรรมกลุ่มอาชีพและกิจกรรมสาธิตเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ได้แก่ 
       3.1 กิจกรรมกลุ่มอาชีพ 
           -  การหัตถกรรมจากไม้ขนาดเล็ก สมาชิก 15 คน ดำเนินการผลิตสินค้า เช่น ทัพพี ไม้เกาหลัง ตะหลิว ตะเกียบ ไม้พาย เป็นต้น การจำหน่ายนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายทั้งในและนอกพื้นที่ เช่น ตามงานเทศกาลของจังหวัดต่าง ๆ และงานนิทรรศการของภาครัฐ 
           -  การแปรรูปสมุนไพร สมาชิก 4 คน ทำการแปรรูปสมุนไพรรูปแบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นชนิดชงดื่ม 
           -  การเลี้ยงโค สมาชิก 16 คน เลี้ยงโคพระราชทานไถ่ชิวิตที่ได้รับมอบเมื่อ 14 มี.ค. 2543  ปัจจุบันมีโค
จำนวน 24 ตัว 
           -  การปลูกยางพารา สมาชิก 30 คน ยาพาราจำนวน 300 ไร่ เริ่มกรีดยางพาราตั้งแต่ ปี 2548 และให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 228 ไร่ ส่วนที่ยังไม่ให้ผลผลิตเนื่องจากทยอยปลูกเพิ่มเติมภายหลังและปลูกซ่อมแซมส่วนที่ตายนำไปฝากจำหน่ายตามร้านค้าสถานที่ต่าง ๆ และทำจำหน่ายตามลูกค้าสั่ง 
           -  การทำดอกไม้ประดิษฐ์ สมาชิก 16 คน ทำดอกไม้ประดิษฐ์จากดินไทยเป็นดอกไม้หลากหลายชนิด นำออกจำหน่ายตามงานเทศกาล งานจำหน่ายและแสดงสินค้าที่ทางราชการจัดขึ้น จำหน่ายที่ที่ทำการกลุ่มฯ และทำตามสั่งที่ลูกค้าสั่ง
      3.2 กิจกรรมสาธิตเพื่อการเรียนรู้ ดังนี้ 
            -  การเลี้ยงปลา –กบ การเพาะเห็ด การขยายพันธุ์ไม้ และโรงสีข้าว นอกจากนั้นยังมีสวนไม้ผลสาธิตเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ การใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตร
    4. งานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 
       4.1 จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ปัจจุบันมีเด็ก 68 คน ผู้ดูแลเด็ก 3 คน สนับสนุนงบประมาณ 
โดย เทศบาลตำบลผาอินทร์แปลง และพัฒนาชุมชน  อ.เอราวัณ จ.เลย 
       4.2 จัดตั้งศูนย์พัฒนาการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มีการฝึกอบรมและให้คำแนะนำแก่ประชาชนผู้สนใจ ตั้งแต่ปี 45 เป็นต้นมา 
       4.3 ดำเนินการดูแลรักษาป่าในพื้นที่โครงการ ฯ อย่างต่อเนื่องและปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ปัจจุบันมีหญ้าแฝกปลูกรวม 60 ไร่
    5. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 
       5.1 จัดวิทยากรกระบวนการฝึกอบรมให้กลุ่มสนใจต่าง ๆ ณ โครงการฯ เช่น หลักสูตรเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ หลักสูตรผู้นำ ค่าเยาวชน อาสาป้องกันและแก้ไขยาเสพติด และอื่นๆ 
      5.2 จัดให้มีศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาขิก ณ โครงการฯ หรือให้ตัวแทนนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
    6. การส่งเสริมการท่องเที่ยว 
    กิจกรรมที่ดำเนินการคือ ที่พักรวม 100 ที่นอน บ้านพักรับรอง จักรยาน จักรยานน้ำ ตกปลา และเต็นท์ให้เช่า
 
 
สรุปผลการดำเนินงาน : 
     การดำเนินงานได้แบ่งออกเป็นกลุ่มงาน ดังนี้
    1. กลุ่มงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้ 
      1.1  งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 
        -  ดูแลรักษาหญ้าแฝกในพื้นที่โครงการฯ เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำตั้งแต่ ปี 2542 และปลูกเพิ่มเติมปัจจุบันมีหญ้าแฝก รวม 60 ไร่ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกโครงการฯ ราษฎรทั่วไปและผู้เข้าเยี่ยมชนทัศนศึกษาดูงานทราบถึงประโยชน์ของหญ้าแฝกพร้อมแนะนำให้ไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง 
        -  จัดตั้งศูนย์การใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ ปี 2543 โดย ชป.โครงการฯ ทดลองใช้กับการปลูกพืชทุกชนิด การเลี้ยงสัตว์ และการบำบัดน้ำเสียในโครงการฯ ได้ผลเป็นอย่างดี พร้อมกับประชาสัมพันธ์และจัดการฝึกอบรมโครงการเกษตรธรรมชาติให้กับราษฎรหมู่บ้านบริเวณและราษฎรนอกพื้นที่ตามภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ณ โครงการฯ เน้นการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมีมาใช้สารสกัดจากธรรมชาติและแนวทางการประกอบอาชีพจำเป็นในการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
    1.2  ทรัพยากรธรรมชาติ 
       -  ดูแลรักษาป่าธรรมชาติบริเวณภูผาผีถอน จำนวน 1,500 ไร่ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา รวมทั้งปลูกป่าเพิ่มเติมรอบภูเขา เช่น ไม้สัก ประดู่ สะเดา เป็นต้น ปัจจุบันป่าฝืนนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก สังเกตจากมีสัตว์ป่าหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย เช่น ลิง นก กระรอก กระแต ไก่ป่า ฯลฯ 
       -  ปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการฯ ให้สมาชิกโครงการฯ ดูแลรักษาคือการปลูกยางพารา จำนวน 300 ไร่ สมาชิกดูแล 33 คน ขณะนี้สามารถกรีดยางได้แล้ว และปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ เช่น มะขาม มะม่วง ลำไย จำนวน 30 ไร่ ขณะนี้ไม้ผลทุกชนิดได้ให้ผลผลิตแล้ว 
       -  ปลูกไม้ใช้สอยในพื้นที่โครงการฯ บริเวณริมถนนภายในโครงการฯ และรอบ ๆ ภูเขา จำนวน 35 ไร่ ขณะนี้พันธุ์ไม้มีอายุ 5 – 14 ปี สามารถนำกิ่งที่ตายมาเป็นฟืนและนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นคุ้มค่ามากที่สุด
    2.  กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิต  ดำเนินงานในกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังนี้ 
       -  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน โดยอนุมัติให้เทศบาลตำบลผาอินทร์แปลง และพัฒนาชุมชน อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย ใช้พื้นที่ในโครงการฯ จำนวน 2 ไร่ ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จำนวน 2 หลัง ใช้งบประมาณ 930,800 บาท ทดแทนหลังเก่า เมื่อปี 2548 เสร็จเรียบร้อย ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของโครงการฯ เริ่มก่อตั้งเมื่อ ปี 2540 การดำเนินงานจัดเจ้าหน้าที่โครงการฯ กำกับดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด และเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองเด็ก ปัจจุบันผู้ดูแลเด็ก จำนวน 3 คน และเด็กเล็ก จำนวน  64 คน 
       -  ส่งเสริมให้สมาชิกโครงการฯ และราษฎรรอบพื้นที่โครงการฯ ประกอบอาชีพโดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก เน้นเรื่องการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และการประกอบอาชีพเสริมต่าง ๆ ในครัวเรือน เช่น หัตถกรรมจากเศษไม้ขนาดเล็ก การเลี้ยงจิ้งหรีด การแปรรูปสมุนไพร การทำขนม และการเลี้ยงโค เป็นต้น ได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รายได้ตั้งแต่ปี 2535 สมาชิกมีรายได้ 8,000 บาท/คน/ปี ปี 2551 สมาชิกมีรายได้ 39,000 บาท/คน/ปี และสมาชิกให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ เป็นอย่างดี เช่นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการฯ การทำบุญตามประเพณีตามเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น 
        -  การดำเนินกิจกรรมสาธิต เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน ได้แก่ การเพาะเห็ดในถุงชนิดต่างๆ เรือเพาะชำ การเลี้ยงกบ – ปลา เป็นต้น มีภาครัฐและเอกชนรวมทั้งราษฎรที่สนใจเข้าฝึกอบรมขอคำแนะนำและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับอาชีพของตนเองที่บ้าน
    3.  กลุ่มงานส่งเสริมศิลปาชีพ  ดำเนินงานในกลุ่มงานส่งเสริมศิลปาชีพ ดังนี้ 
       -  การทอผ้าไหมและการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สมาชิก จำนวน 128 คน ดำเนินการผลิตผ้าไหมทั้ง 2 ตระกอ และ 3 ตระกอ เป็นผ้าไหมพื้นเรียบ มัดหมี่ และหมี่ข้อหมี่ตา ส่งจำหน่ายให้กับ กรส. และจำหน่ายตามสั่งของลูกค้าบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการกลุ่ม เงินที่ได้จากการจำหน่ายผ้าไหมหักร้อยละ 3 เข้ากองทุนกลุ่มเพื่อใช้บริหารงาน ปัจจุบันยอดเงิน 149,800 บาท การเลี้ยงไหมดำเนินการเลี้ยงเป็นครั้งคราวเพื่อสาธิต เป็นอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว 
       -  การตีเหล็ก สมาชิกมีจำนวน 4 คน ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรจำหน่าย ณ โครงการฯ และพื้นที่นอกโครงการฯ หรือทำตามสั่งของลูกค้า เช่น มีด จอบ เสียม และมีดโบว์วี่ เป็นต้น
       -  การจักสาน สมาชิก 21 คน บริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการกลุ่ม สมาชิกส่วนใหญ่มีอายุมากผลิตเครื่องมือจับปลา และเครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์จำหน่ายให้กับผู้สนใจทั่วไปในหมู่บ้านและตามสั่งของลูกค้า
 
หน่วยงานที่รับผิดชอบ :
    กรมทหารพรานที่ ๒๑ (โทร. ๐๔๒-๓๙๑๐๐๑)
 
สมาชิกในโครงการ :
ราษฎรได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าพักอาศัยในโครงการฯ ๔๗ ครอบครัว ๑๙๒ คน บ้านพัก ๕๐ หลัง
แบ่งที่ดินให้ครอบครัวละ ๒ - ๕ ไร่    มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น ๑๘๗ คน
 
กิจกรรมที่ดำเนินการ :
ทอผ้าไหม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตีเหล็ก เลี้ยงโค หัตถกรรมเครื่องใช้ ดอกไม้ประดิษฐ์ แปรรูปสมุนไพร
ปลูกยางพารา เพาะเห็ด เลี้ยงกบ-ปลา เลี้ยงสัตว์ปีก
 
ที่มาของโครงการ :
http://www.loei.go.th/web%20prd/Phanang/index.html
เอกสารประกอบการเดินทางตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ผานาง-ผาเกิ้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 24-25 ของนายพลากร สุวรรณรัฐ